วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การประกันสังคม







การประกันสังคมดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 และพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2546 ซึ่งจะให้หลักประกันแก่ลูกจ้างผู้ประกันตนรวมทั้งสิ้น 7 กรณีคือ การเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ การทุพพลภาพ การตายที่มิใช่เนื่องจากการทำงาน การคลอดบุตร การชราภาพ การสงเคราะห์บุตร และการว่างงาน

เงินสมทบคืออะไร

เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้าง ลูกจ้างจะต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนโดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ซึ่งกำหนดจากฐานค่าจ้างเป็นรายเดือนต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท สูงสุดเดือนละ 15,000 บาท ทั้งนี้ รัฐบาลจะออกเงินสมทบเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง

การเรียกเก็บเงินสมทบและการคำนวณเงินสมทบ

- ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบ ดังนี้

ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นไป อัตราเงินสมทบร้อยละ 5 (นายจ้าง ร้อยละ 5 และลูกจ้างร้อยละ 5 ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในแต่ละเดือน)

หมายเหตุ การส่งเงินสมทบเพื่อสิทธิประโยชน์ 7 กรณีให้นายจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่ได้หักไว้ และเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเท่ากับจำนวนเงินที่หักจากลูกจ้างส่งให้สำนักงานภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยนำส่งที่สำนักงานประกันสังคมหรือที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ซึ่งในส่วนของการดำเนินการเพื่อขึ้นทะเบียนผู้ประกันของพนักงานในสถาบัน อุดมศึกษา และลูกจ้างชั่วคราวของมหาวิทยาลัยศิลปากร มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

1. กองการเจ้าหน้าที่ทำบันทึกไปยังลูกจ้างชั่วคราว/พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ที่บรรจุใหม่ ตามคำสั่งที่ได้แนบไปพร้อมกับแบบฟอร์มแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) เพื่อให้กรอกข้อมูลในรายละเอียดในแบบ สปส.1-03 ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อเป็นหลักฐานส่งสำนักงานประกันสังคม

2. ลูกจ้างชั่วคราว/พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา นำส่งแบบ สปส.1-03 ไปยังกองการเจ้าหน้าที่

3. กองการเจ้าหน้าที่ รับเรื่องและนำส่งงานบริหารงานบุคคลเพื่อดำเนินการ

ตรวจสอบและกรอกรายละเอียดข้อมูลนายจ้างมหาวิทยาลัยศิลปากร และตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตนและการเลือกสถานพยาบาลให้อยู่ในรายชื่อสถานพยาบาลประกันสังคมตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด แยกตามจังหวัด สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานสวัสดิการสังคม

4. รองอธิการบดี (บริหาร) ลงนามในหนังสือนำส่งแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) และลงนามในแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03)

5. นำแบบส่งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนฯ ไปยังสำนักงานประกันสังคม

6. สำนักงานประกันสังคมส่งบัตรประกันสังคมและแบบรายงานการออกบัตรประกันสังคมมายังมหาวิทยาลัยศิลปากร

7. กองการเจ้าหน้าที่รับเรื่องและนำส่งงานบริหารงานบุคคลเพื่อดำเนินการ

จัดส่งบัตรประกันสังคมให้กับผู้ประกันตนแต่ละรายที่สังกัดตามคณะวิชา/หน่วยงานต่างๆ

หมายเหตุ

1. บัตรประกันสังคมที่ใช้บริการในสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด มีระยะเวลาในการถือบัตรรับรองสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเป็นเวลา 2 ปี

2. กรณีที่มีการบันทึกข้อมูลในบัตรประกันสังคมผิดพลาด

ผู้ประกันตนจะส่งบัตรดังกล่าวมา เพื่อให้กองการเจ้าหน้าที่ดำเนินการกรอกแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน(สปส.6-10) ไปยังสำนักงานประกันสังคม (โดยแนบบัตรประกันสังคมเดิมที่ผิดพลาดไปด้วย)

3. กรณีผู้ประกันตนมีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ฯลฯ และมีบุตรผู้ประกันตนจะกรอกข้อมูลในแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส.6-10)

ตัวอย่าง

(1.) กรณีบรรจุใหม่

นาย ก. (ลูกจ้าง) ได้รับการบรรจุ ซึ่งได้รับอัตราค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท หลังจากที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนเรียบร้อยแล้ว จะถูกหักเงินเข้าสมทบประกันสังคมเป็นจำนวนเงิน 500บาท/เดือน (ร้อยละ 5 ของอัตราค่าจ้างที่ได้รับในแต่ละเดือน) และทางมหาวิทยาลัย(นายจ้าง)จะสมทบเงินประกันสังคมให้นาย ก. เป็นจำนวนเงิน 500 บาท/เดือน(ร้อยละ 5 ของอัตราค่าจ้างที่นาย ก.ได้รับในแต่ละเดือน) ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ได้รับอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 15,000 บาท/เดือนขึ้นไป จะถูกหักเงินเข้าสมทบประกันสังคมเป็นจำนวนเงิน 750 บาท/เดือน (ร้อยละ 5 ของเงิน 15,000 บาท) และมหาวิทยาลัยก็จะสมทบเข้าเงินประกันสังคมเป็นจำนวนเงิน 750 บาท/เดือนเช่นกัน

(2.) กรณีลาออกจากงานหรือว่างงานแต่ยังประสงค์จะส่งเงินสมทบประกันสังคมต่อ

กรณี นาย ก.ลาออกจากงานหรือสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง แต่ยังประสงค์จะส่งเงินสมทบประกันสังคมต่อ ก็ให้เป็นไปตามมาตรา ๓๙ ซึ่งมีความว่า ผู้ใดเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบสองเดือน และต่อมาความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๘(๒) ถ้าผู้นั้นประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด ภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

จำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งต้องส่งเข้ากองทุนตามมาตรา ๔๖ วรรคสอง ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วย

ให้ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละครั้งภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป

ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งซึ่งไม่ส่งเงินสมทบ หรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคสาม ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่ง หรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ สำหรับเศษของเดือนถ้าถึงสิบห้าวันหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งเดือนถ้าน้อยกว่านั้นให้ปัดทิ้ง

การดำเนินการสอบคัดเลือก/คัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และเข้าปฏิบัติงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว สังกัดกองคลัง กองกลางและกองการเจ้าหน้าที่ มีขั้นตอน ดังนี้

1. หน่วยงานตั้งเรื่องเพื่อขออนุมัติดำเนินการเปิดสอบคัดเลือก/คัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และเข้าปฏิบัติงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว เลขานุการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบ

2. จัดทำประกาศรับสมัครสอบ

3. นัดประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และกำหนดวันสอบ

4. จัดทำประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ กำหนดวันเวลาสถานที่สอบ รายละเอียดเกี่ยวกับการสอบ

5. ดำเนินการจัดสอบข้อเขียน/ปฏิบัติ/สัมภาษณ์ และจัดทำบัญชี ผลคะแนน

6. จัดทำประกาศผลผู้สอบได้ เสนอลงนาม และเรียกตัวผู้สอบได้เข้าทำงาน หน่วยงานที่สังกัด

7. ขออนุมัติเบิกเงินค่าตอบแทนสำหรับกรรมการออกข้อสอบ ข้อเขียน/ปฏิบัติ/สัมภาษณ์ ให้คณะกรรมการดำเนินการสอบในตำแหน่ง ดังนี้ ข้าราชการ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานราชการ ยกเว้น ลูกจ้างชั่วคราว ตามหลักเกณฑ์วิธีคิดเงินค่าตอบแทนแนบท้ายนี้

8. ทำบันทึกเสนอที่ประชุมก.บ.ม. และ ก.บ.พ. เพื่อขออนุมัติบรรจุผู้สอบได้เข้าทำงาน (เฉพาะพนักงานราชการและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา)

9. ทำบันทึกแจ้งวันรายงานตัวเข้าทำงาน

10. กรณีมีผู้สอบได้ที่ขึ้นบัญชีไว้ เลขานุการดำเนินการ ดังนี้

- แจ้งประธานดำเนินการสอบเพื่อพิจารณา

- หากเห็นชอบให้เรียกจากบัญชี จัดทำหนังสือถึงผู้สอบได้ในลำดับต่อไป โดยในหนังสือต้องระบุ กำหนดวันที่จะรายงานตัวเข้าปฏิบัติ

การประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของลูกจ้างชั่วคราว สังกัดกองคลัง กองกลางและกองการเจ้าหน้าที่

1. นัดประชุมคณะกรรมการ ก่อนถึงกำหนดครบการประเมินทดลองปฏิบัติงาน (อย่างน้อย 15 วัน)

2. เมื่อคณะกรรมการประเมินมีมติเห็นชอบให้ผ่านการประเมินทดลองปฏิบัติงาน จะทำบันทึกพร้อมแนบแบบฟอร์มเสนอรองอธิการบดี (บริหาร) ทราบ

3. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (งานบริหารงานบุคคล งานทะเบียนประวัติ) เพื่อดำเนินการต่อไป

4. ลงทะเบียนคุมในการผ่านผลการประเมินฯ เพื่อให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวต่อไป


การประเมินเพื่อต่อสัญญาการจ้างลูกจ้างชั่วคราว สังกัดกองคลัง กองกลางและกองการเจ้าหน้าที่

กรณีลูกจ้างชั่วคราวจะมีการต่อสัญญาจ้างทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี มีขั้นตอน ดังนี้

1. สำรวจรายชื่อลูกจ้างชั่วคราวที่มีสิทธิได้รับการต่อการจ้าง

2. ดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิที่จะได้รับการต่อการจ้าง

3. จัดเตรียมเอกสารการประเมิน และนัดคณะกรรมการ เพื่อทำการประเมินให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา

4. ทำบันทึกเสนอผลการประเมิน และแจ้งผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป (ส่งงานบริหารงานบุคคล ออกคำสั่ง)


การประเมินเพื่อเลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว สังกัดกองคลัง กองกลางและกองการเจ้าหน้าที่

กรณีลูกจ้างชั่วคราวมีการประเมินเลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ปีละ 2 ครั้ง ช่วงเดือนเมษายนและกันยายนของปีงบประมาณ มีขั้นตอน ดังนี้

1. สำรวจรายชื่อลูกจ้างชั่วคราวที่มีสิทธิได้รับการเลื่อนขั้นค่าจ้าง ประมาณเดือนเมษายนและตุลาคม

2. ดำเนินการจัดทำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิที่จะได้รับการเลื่อนขั้นค่าจ้าง

3. จัดเตรียมเอกสารการประเมิน และนัดคณะกรรมการ เพื่อทำการประเมินให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา

4. ทำบันทึกเสนอผลการประเมิน และแจ้งผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป (ส่งงานบริหารงานบุคคล ออกคำสั่ง)

5. จัดทำฐานข้อมูลรายบุคคลของลูกจ้างชั่วคราวเกี่ยวกับสถิติผลคะแนนการประเมิน และความถี่ในการเลื่อนขั้นค่าจ้างในแต่ละรอบปี (ปีละ 2 ครั้ง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น